วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

คำว่า "มีเหตุผล" คืออย่างไร ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คำว่า มีเหตุผล เป็นคำใหญ่ ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อพิจารณาตามคำศัพท์ แต่ละคำมีนิยามดังนี้

มี = ปรากฏขึ้น เกิดขึ้น เป็นขึ้น ดำรงอยู่ และเคลื่อนไปได้
เหตุ = สิ่งที่ก่อให้เกิดผล, ปัจจัยจำเพาะที่ก่อให้เกิดผลนั้น ๆ
ผล = สิ่งที่เกิดจากเหตุ, สิ่งที่มีเหตุเกิด


เหตุ เป็นสิ่งที่มาก่อนผล
ผล เป็นสิ่งที่มาหลังเหตุ ตามเหตุ

เมื่อมีเหตุ ก็จะมีผล
ถ้าไม่มีเหตุ ก็จะไม่มีผล
มีเหตุอย่างไร ก็มีผลอย่างนั้น

เหตุ-ผล เป็นชื่อของสภาวธรรม และสัจธรรม ปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรม หรืออาจเรียกว่า เป็นตัวธรรมชาติและกฎธรรมชาติ หรือ หลักธรรมชาติ บทบาทธรรมชาติและผลธรรมชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งที่ตัวมนุษย์และสิ่งรอบ ๆ ตัวมนุษย์
เหตุกับผลมีความสัมพันธ์กัน

พระเรียกลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลเมื่อแสดงอาการออกมาว่า ปฏิจจสมุปปาท ซึ่งแปลว่า อาการที่อาศัยกันเกิดขึ้น นั่นคือ ผลอาศัยเหตุจึงบังเกิด ในขณะเดียวกัน ตัวผลนั้นเองก็มีฐานะเป็นเหตุก่อผลตัวอื่นตามกันมา เช่น เมื่อมีฝนตก (ซึ่งมีเหตุให้ตก) ก็ส่งผลให้ดินชุ่มฉ่ำ เมื่อดินชุ่มฉ่ำ บรรดาพืชพันธุ์ไม้ทั้งหลายก็แตกดอกออกหน่อ ออกดอก ออกผล ผลนั้นก็เก็บเอาพันธุกรรมของพืชนั้นไว้ในเม็ดพันธุ์ เมื่อเมล็ดพันธุ์หล่นลงดิน ได้อุณหภูมิเหมาะก็ก่อตัวแตกหน่อเจริญเติบโตต่อไป ดังนี้ เป็นต้น กระบวนการเกิดมีดังว่านี้ พระเรียกว่า อิทัปปัจจยตา แปลว่า เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี

มนุษย์ทุกคนก็อยู่ภายใต้กฎนี้ และสภาวะนี้ คือ มีเหตุเกิด และเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปทา ที่ว่านี้

การทำงานของกาย-ใจ มนุษย์ก็ขับเคลื่อนอยู่ภายใต้กฎนี้

ในส่วนกาย ที่บอกว่า ประกอบด้วยธาตุ 4 มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันขึ้นอย่างถูกส่วน โดยมีอากาศธาตุเป็นตัวกำกับ จากนั้น ตัววิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้ก็เกิด ซึ่งเรียกว่าจิตธาตุ ที่สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ จำได้ รู้สึกได้ คิดได้ รู้แจ้งได้ โดยอาศัยกลไกทางร่างกายทั้ง 6 ช่อง มีตา หู เป็นต้น ในตัวรับโลกภายนอกเข้าสู่กายในกาย - ใจ (จิต) เพื่อหล่อเลี้ยงกายและจิตให้ดำรงอยู่และให้ขับเคลื่อนไป ตามเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่องกัน

จะเห็นว่า กายใจ ของมนุษย์ มีธรรมชาติเป็นแดนเกิด หรือเป็นผลผลิตของธรรมชาติ หรือธรรมชาติเป็นเหตุ ตัวมนุษย์เป็นผล การดำรงอยู่ของมนุษย์ก็ดำเนินไปภายใต้กฎธรรมชาติ หรือกฎแห่งเหตุผลนี้ กาย-ใจ มนุษย์อยู่ได้ด้วยเหตุปัจจัย คือ อาหารกายและอาหารใจ ภายในวัตถุธาตุ ก็ต้องการวัตถุธาตุ มีดิน น้ำ เป็นต้น เมื่อกายใจได้รับอาหารที่เหมาะสมถูกต้องตามกฎธรรมชาติ กายใจก็อยู่ได้ และเจริญ แต่ถ้าได้รับอาหารคลาดเคลื่อนผิดพลาดไม่เหมาะสม ก็อับเฉา มีอันตรายอ่อนแอและชีวิตก็อาจดับลง ขณะเดียวกันหากมีเหตุร้ายที่กายใจมนุษย์รับไม่ไหว ผลที่ตามมาก็คือสิ้นชีวิต หรือแตกดับได้เช่นกัน สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็เป็นเช่นนี้

จึงเห็นได้ว่าเรื่องเหตุ-ผล นั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่งที่ตัวมนุษย์ก็มีทั้งที่กายและที่ใจ และที่กาย-ใจเอง ก็มีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน และกันอยู่ตลอด

ดังนั้น คำว่า "ความมีเหตุผล" ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากทั้งในตัวความเป็นเหตุเป็นผลเอง เพราะเป็นธรรมชาติและเป็นกฎธรรมชาติรวมทั้งเป็นบทบาทของธรรมชาติ และผลของธรรมชาติทั้งปวง และในการกระทำของมนุษย์ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

เมื่อกายใจของมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่ง คือ เป็นผลของธรรมชาติ อยู่ภายใต้กฎ บทบาท ผลลัพธ์ของธรรมชาติ

ดังนั้น การดำรงอยู่ ขับเคลื่อนไปเพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทั้งทางการรับเข้า สื่อออกแสดงออก หรือ การกระทำใด ๆ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ต้องเป็นไปให้สอดคล้องต้องตามธรรมชาติ กฎธรรมชาติ บทบาทธรรมชาติ และผลธรรมชาติ จึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ไม่ติดขัดไม่อันตราย เกิดความพอดี พอเพียง ปลอดภัยทั้งปวงได้

แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์มีข้อจำกัดเมื่ออุบัติขึ้นมานั้น มีทุนเพียงธาตุ ทั้งที่เป็นกายธาตุ และจิตธาตุต้องมาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยธาตุหลัก ทั้ง 2 ที่มีอยู่ จึงจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นใคร จะรับอะไร เข้าบ้าง จะแสดงออก โต้ตอบอย่างไร นั้น ต้องอาศัยการฝึกตน ให้รู้ก่อนว่าอันใด มีคุณ อันใดมีโทษต่อตน แล้วค่อยเลือกรับสิ่งมีคุณ ไม่รับสิ่งมีโทษและหรือแสดงสิ่งมีคุณ ไม่แสดงสิ่งมีโทษ

การฝึกกายใจให้รู้สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวของมนุษย์ จึงเป็นกิจกรรมใหญ่สุด ๆ เพราะเมื่อรู้ดีแล้วก็จะคิดได้ทำได้ถูก ทำได้ดี มีคุณต่อตนและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งพืช สัตว์ อื่นๆ ด้วย

ความมีเหตุผล ความเป็นเหตุเป็นผลเป็นกฎธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นหลักใหญ่ของสรรพสิ่ง เป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งที่ตัวมนุษย์

หากมนุษย์มิได้ฝึกตนให้ได้เรียนได้ รู้ความเป็นเหตุเป็นผลดั่งว่านี้ เป็นเบื้องต้นแล้ว มนุษย์ก็มิอาจกระทำให้สอดคล้องต้องตามหลักเหตุผลที่ว่านี้ได้ เมื่อทำไม่ได้หรือทำผิดพลาดในตัวเหตุก็จะผิดพลาดในตัวผล ไม่อาจเป็นไปตามเจตน์จำนงของผู้กระทำได้ หรือเป็นไปตามเจตน์จำนง แต่ถ้าเจตน์จำนงนั้นไม่ต้องตามกฎธรรม ผลก็คลาดเคลื่อนจากผลดีเป็นผลเสียก็เป็นได้

จึงเห็นได้ว่า ปัญหาใหญ่ของมนุษย์อยู่ตรงนี้ คือ ความไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไร จึงทำไป คิดไป พูดไป ตามความรู้สึกนึกคิด ซึ่งถือว่า เป็นความอ่อนด้อยของมนุษย์ พระพุทธองค์ ทรงตระหนักเรื่องนี้ จึงทรงพยายามเรียนรู้อย่างยิ่งยอด และพบว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผลของอะไร และถ้ามนุษย์อยากจะหลุดจากความสุข ความทุกข์ทั้งกายใจ ควรจะรู้อะไร คิดอะไร และทำอะไร อย่างไร ทำไม ที่ไหน เมื่อใด พุทธธรรมทั้งหมดตอบคำถามเหล่านี้

การที่บอกว่า ให้รู้อริยสัจ 4 ก็ คือ ให้รู้เรื่องเหตุผล
การให้รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ ให้รู้เรื่องเหตุผล

คือ ให้รู้ว่าอะไร คือ ตัวทุกข์ ตัวสุข ก็คือให้รู้ตัวสภาพความจริงและเป็นตัวผล (รู้ทุกข์)
แล้วให้โยงต่อไปหาเหตุว่ามีอะไรเป็นเหตุ (รู้สมุทัย)
ให้รู้ว่าการดับเหตุได้ ผลคือตัวทุกข์-สุข มันก็จะดับลงด้วย (รู้นิโรธ)
และให้รู้วิธีดับเหตุนั้น ต้องหรือควรทำอย่างไร จึงจะดับได้ (รู้มรรค)


การให้รู้อริยสัจ ก็คือ การให้รู้อย่างนี้ และการให้รู้อย่างนี้ก็คือ การรู้เหตุรู้ผล เมื่อรู้เหตุรู้ผล ก็สามารถคิดทำตามเหตุตามผล เมื่อทำตามเหตุตามผล ก็จะได้ผลตามเหตุตามผลนั้น
ภาษาพระท่านเรียกสั้น ๆ ว่า "รู้ธรรม ทำตามธรรม ก็จะได้ผลตามธรรม"

แต่ถ้าไม่รู้ธรรม ก็ไม่อาจคิด-ทำตามธรรม ผลก็มิอาจเกิดตามธรรม คือ เกิดนอกธรรม ซึ่งไม่เป็นคุณต่อธรรม คือ ตัวมนุษย์ และธรรมทั้งปวง จึงเห็นได้ว่า เมื่อพูดถึง คำว่าเหตุผล หรือมีเหตุผล เพียงคำเดียวนี้ แต่เพราะความมีเหตุผลในคำว่า มีเหตุผล มันจึงโยงใยไปถึงคำอื่น ๆ ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยทุก ๆ คำ คือ

โยงกับ คำว่า พอเพียง พอประมาณ พอมี พอกิน พอใช้
โยงกับคำว่า มีภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม
โยงกับคำว่า มีความรอบรู้ รอบคอบ
โยงกับคำว่า มีคุณธรรม
และยิ่งไปกว่านั้น

ยังโยงกับมนุษย์ การกระทำของมนุษย์การอยู่ การกิน การใช้ของมนุษย์ สัตว์ และพืช ทั้งปวงอีกด้วย

ทั้งนี้ก็เพราะว่า มนุษย์สัตว์สิ่งของใด ๆ ก็ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกภพนี้ ล้วนตั้งอยู่ภายใต้กฎเหตุผลนี้ทั้งนั้น คือ ต่างก็ดำรงอยู่และขับเคลื่อนไปตามกฎนี้

และความมีเหตุผล ความเป็นเหตุ เป็นผลนี้เอง คือ ทางสายกลาง และสายเดียว ที่มนุษย์สัตว์ พืช ต้องเดินตามและการกระทำหรือเดินตามทางสายกลางก็คือเดินตามทางของเหตุ-ผลนี้เอง นี้คือ คำตอบที่ผู้เขียนมองเห็นในประเด็นคำถามที่ว่า "ความมีเหตุผล คืออย่างไร?" ตอบสั้น ๆ ก็ คือ อย่างนี้แหละ หรือท่านทั้งหลายคิดอย่างไรลองช่วยกันคิดดู